ส่องหุ้นบัตรเครดิตรับไฮซีซั่น น่าลงทุนมั้ย ? ปีหน้า Card X ลุยสนามแข่ง

ข่าวล่าสุด

ส่องหุ้นบัตรเครดิตรับไฮซีซั่น จับตาปีหน้าย่านแม่ส่ง Card X ลุยสนาม ตลาดแข่งเดือด

ไฮซีซั่นท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยอุปโภคบริโภคช่วงปลายปีนี้ จะมีแรงหนุนต่อธุรกิจบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดมากน้อยแค่ไหน วันนี้ Prachachat Wealth เล่าเรื่องการลงทุน ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “คุณรวิสรา สุวรรณอำไพ” ผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟ เอส เอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

 

Q : จากกำลังซื้อการบริโภคและการท่องเที่ยวปลายปีนี้ จะหนุนโมเมนตัมต่อการเติบกำไรธุรกิจบัตรเครดิตอย่างไร และคาดการณ์ว่ายอดสเปนดิ้งจะคึกคักมากน้อยแค่ไหน

คุณรวิสรา เปิดเผยว่า คิดว่าในช่วงปลายปีนี้พวกยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร ไม่ว่าจะเป็นการกดเงินสดหรือว่าการจ่ายผ่านบัตรเครดิต น่าจะยังเห็นการเติบโตที่ต่อเนื่อง คือขอเล่าย้อนกลับไปนิดหนึ่งว่า Card Spending ภายในประเทศในช่วงโควิดลดลง ในช่วงปี 2020 ปี 2021 ดรอปลงมาเพราะว่ามีการระบาดของโรค การจับจ่ายใช้สอยของคนก็ลดลง การไปท่องเที่ยว การซื้อประกัน การเติมน้ำมัน อะไรพวกนี้มันลดลงหมดเลย

ทีนี้ในปี 2022 ถ้าเราไปดูตัวเลขในแบงก์ชาติเปิดเผยไว้ อัพเดตประมาณ 8 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ ก็จะเห็นได้ว่ายอดเติบโตที่ค่อนข้างดีมาก ๆ และถ้าไปเทียบปี 2020-2021 ที่ดรอปลงมาตลอด หลาย ๆ คนอาจจะบอกว่าถ้าเทียบปีที่แล้ว ก็แน่นอนสิว่าจะต้องเติบโต แต่ว่าจริง ๆ เราต้องไปเทียบในปี 2019 ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีโควิด

เอาค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 8 เดือนนี้ไปเทียบกับ 8 เดือนของปี 2019 ต้องบอกว่าปีนี้คือเติบโตสูงกว่าปี 2019 แล้ว จะเห็นการเติบโตอยู่ประมาณสัก 2% ก็ถือว่ากลับมาได้ค่อนข้างเร็ว ทีนี้ถ้าเราเทียบกับปี 2021 คือเติบโตสูงมาก ๆ ก็คือ 32%

ทีนี้ถามว่าโมเมนตัมจะยังเห็นเปอร์เซ็นต์การเติบโตที่สูงแบบในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาไหม ในประมาณ ต.ค.-ธ.ค.65 ต้องบอกว่าเปอร์เซ็นต์การเติบโตอาจจะไม่ได้แรงเท่า เพราะว่าปีที่แล้วเราเริ่มเปิดเมือง ฉีดวัคซีนกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นฐานมันขึ้นมาสูง

ปลายปีนี้คงเติบโตต่อ แต่เปอร์เซ็นต์การเติบโตคงไม่ได้แรง ถ้าเราดู Year on Year ก็คือเทียบ 2022 กับปี 2021 คงไม่ได้แรงเท่ากับในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา

Q ถ้าดูไส้ในหมวดการใช้จ่าย ท็อป 5 ยอดสเปนดิ้งใช้จ่ายไปกับอะไรมากสุด

คุณรวิสรา กล่าวว่า บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เราติดตามสอบถามก็คือ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) กับ บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) คือเขาจะให้เป็นภาพคร่าว ๆ อย่างเช่น KTC หมวดอันดับ 1 เกี่ยวกับพวกการลงทุน ซื้อประกัน อันดับ 2 เป็นเรื่องค่าเดินทาง การเติมน้ำมัน เติมแก๊ส ซึ่งหมวดนี้จะติดท็อปมาตลอด และแม้กระทั่งช่วงโควิดก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง

ส่วนหมวด 3-4-5 มีการสลับอันดับ (Rank) กันแล้วแต่ช่วงเวลา อย่างเช่น อาจจะเป็นเฮลท์แคร์ ก็คือเวลาเราไปโรงพยาบาล หรือว่าอาจจะเป็นเกี่ยวกับหมวดที่เป็น Grocery ก็คือเวลาเราไปช้อปปิ้งใน TOPs, Gourmet อยู่ในหมวดที่ติดท็อป 5 และหมวดสุดท้ายจะเป็นพวกร้านอาหาร มีลิงก์ท่องเที่ยวนิดหน่อย เพราะฉะนั้น 5 หมวดจะเป็นประมาณนี้

ส่วน AEONTS อาจจะไม่ได้มีดาต้าชัดเจนมากนักว่าแต่ละหมวดอันไหนเป็นท็อป 5 แต่ว่าพวกช้อปปิ้งออนไลน์ ก็จะติดอยู่ในท็อป 5 เหมือนกัน

Q : ในมุมนักลงทุน จังหวะแบบนี้กลยุทธ์การเล่นหุ้นธุรกิจบัตรเครดิต มีคำแนะนำอย่างไร ทั้งในมุมนักลงทุนระยะสั้น-นักลงทุนระยะยาว

คุณรวิสรา กล่าวต่อว่า เราคิดว่าถ้าในระยะสั้นก็คือจะน่าสนใจ อย่างที่บอกไปว่าเราเห็นว่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเป็นการเติบโตที่สูงกว่าพรีโควิดเลเวลแล้ว และก็ถ้ามองในช่วงที่เหลือของปีจะยังเห็นการเติบโตที่ต่อเนื่อง

เพราะฉะนั้นในด้านของผลประกอบการของผู้ที่อยู่ในธุรกิจ ก็น่าจะมีการเติบโตที่ดีในระยะสั้นประมากสัก 2-3 เดือน ก็คิดว่าเป็นหุ้นที่ค่อนข้างน่าสนใจ

แต่ถ้าจะเป็นระยะยาวอาจจะต้องดูการแข่งขันสักหน่อย เพราะว่าธุรกิจบัตรเครดิต รวมถึงสินเชื่อบุคคล (Personal Loan) จะสังเกตได้ว่าหลัง ๆ แบงก์ลงมาทำธุรกิจนี้ค่อนข้างจริงจัง

คือแบงก์เขาก็มีธุรกิจนี้อยู่แล้ว แต่ว่าก่อนหน้านี้ฐานลูกค้าอาจจะไม่ได้ทับซ้อนกันทีเดียว ลูกค้าบัตรเครดิตของแบงก์ก็อาจจะเป็นกลุ่มที่รายได้ปานกลาง (Medium Income) หรือว่าผู้มีรายได้สูง (High Income)

ในขณะที่ลูกค้าอย่างของ KTC และ AEONTS จะเป็นระดับรายได้ต่ำถึงกลาง (Low-Medium Income) แต่ตอนนี้แบงก์ขยับมาเป็นระดับเหมือนเรียกว่าเป็นรีเทลเป็น mass ชัดเจน ลงมาระดับผู้มีรายได้ต่ำ (Low Income)

เพราะฉะนั้นถ้าเราจะลงทุนระยะยาว อยากให้นักลงทุนติดตามเรื่องของการแข่งขัน ถ้าแบงก์บุกเข้ามาเยอะ การแข่งขันมันก็จะรุนแรง การขยายพอร์ต การเติบโตของกำไรก็อาจจะยากขึ้นในอนาคต

Q : ถ้าดูการแข่งขันธุรกิจบัตรเครดิตในปีหน้า โมเมนตัมจะเป็นอย่างไรบ้าง

คุณรวิสรา กล่าวอีกว่า น่าจะเริ่มเห็นการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น อาจจะขอยกตัวอย่างย่านแม่ ถ้านักลงทุนท่านไหนติดตามก็คือเขาใช้บริษัทที่ชื่อว่า Card X และก็ช่วงนี้จะเห็นโฆษณาใน YouTube อาจจะเยอะหน่อย เพราะว่าเขาอยู่ในช่วงของการพยายาม เรียกว่าเหมือนรีแบรนด์ ทำแบรนด์ให้มันดูใหม่ขึ้น วัยรุ่นขึ้น ถ้าใครเห็นโฆษณา YouTube พี่เบิร์ด ธงไชย เป็นพรีเซ็นเตอร์

ปีหน้า Card X ลุยสนามแข่ง
ก็เลยคิดว่าการแข่งขัน ความร้อนแรงในปีหน้า เราอาจจะเห็นชัดเจนมากขึ้น เพราะว่า SCB น่าจะทำการย้ายโอนพอร์ตจากตัว SCB BANK ไปสู่ SCBX ก็คือขึ้นย่านแม่เรียบร้อยแล้วน่าจะเป็นช่วงประมาณ ธ.ค. เพราะฉะนั้นปีหน้าอาจจะเริ่มจริงจังมากขึ้นแล้ว

Q : ในแง่ราคาหุ้น ให้ราคาเป้าหมาย KTC กับ AEONTS อย่างไรบ้าง ถ้าดูอัพไซด์จากราคากระดานยังมีรูมเยอะไหม

คุณรวิสรา กล่าวว่า ถ้า KTC ให้ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 65 บาท เป็นราคาเป้าหมายปลายปี 2023 ส่วน AEONTS ให้ราคาอยู่ที่ 188 บาท ก็จะเห็นว่ามีอัพไซด์จากราคาในกระดานทั้งคู่ แต่ว่าในหุ้นที่ชอบมากกว่าคือ KTC เพราะเรามองว่าในด้านการเติบโตของกำไรในช่วงที่เหลือของปี ก็คือไตรมาส 4 น่าจะโดดเด่นมากกว่า AEONTS

และปกติเวลาดูธุรกิจพวกสินเชื่อเพื่อการบริโภค (Consumer Finance) หรือว่าบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล (Personal Loan) นอกจากดูเรื่องการเติบโตของสินเชื่อ อีกอย่างหนึ่งเราจะต้องดูในด้านการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ หรือ NPL ของบริษัทด้วย ซึ่งที่ผ่านมา KTC ไม่ได้มีปัญหา NPL ที่เรากังวล สามารถคุม NPL ได้ในระดับที่ค่อนข้างดี

แต่ว่า AEONTS ด้วยฐานลูกค้าจริง ๆ จะเป็นระดับที่ล่างกว่า KTC ลงมานิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลาที่มีเงินเฟ้อสูงก็จะทำให้ลูกค้า AEONTS อาจจะมีความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ที่ลดลงบ้างในบางจังหวะ NPL จะยังดูเป็นปัญหาสำหรับ AEONTS อยู่ เพราะฉะนั้นถ้าเทียบ 2 ตัวนี้ เมื่อดูกับราคาเป้าหมาย จริง ๆ มีอัพไซด์ทั้งคู่ แต่ว่าตัวที่เราแนะนำจะเป็น KTC